การเกิดมลพิษ

สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด เราจำเป็นต้องพึ่งพาเพื่อประกอบกิจกรรมทางการเกษตรหรือสร้างที่อยู่อาศัย แต่กิจกรรมเหล่านี้ก็อาจส่งผลทำให้เกิดมลพิษทางดินแบบไม่รู้ตัว ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่อาจโยนความผิดให้ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นคนรับผิดชอบ แต่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้นเราจึงควรเริ่มต้นด้วยการรู้ถึงสาเหตุของการเกิดมลพิษทางดิน เพื่อใช้ชีวิตอย่างมีสติ และอย่างน้อย ๆ ก็สามารถปรับพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

สาเหตุของการเกิดมลพิษทางดิน

หลัก ๆ มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 7 สาเหตุ ดังต่อไปนี้

1. การตัดไม้ทำลายป่า 

ส่งผลต่อสภาพดินโดยรอบพังทลายได้ง่าย กลายเป็นสถานที่แห้งแล้ง เมื่อมีฝนตกหนักหรือเกิดพายุอย่างรุนแรงก็จะกลายเป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากไม่มีต้นไม้หรือพืชคอยยึดเกาะหน้าดิน

2. การเพาะปลูก

ถึงแม้การเพาะปลูกจะเป็นการเพิ่มต้นไม้หรือใบหญ้าให้กับธรรมชาติ แต่หากไม่มีวิธีการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ก็อาจทำให้แร่ธาตุภายในดินหมดไป เกิดการเสื่อมสภาพ และไม่สามารถปลูกพืชได้อีก

3. การทิ้งขยะมูลฝอยและของเสียต่าง ๆ 

ขยะมีสารมากมายที่ส่งผลกระทบต่อมลภาวะทางดิน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเชื้อโรคหรือความอันตรายจากสารเคมี โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ที่มีโรงงานตั้งอยู่ และยิ่งโรงงานดังกล่าวมีการใช้อินทรีย์หรืออนินทรีย์ที่มีขยะสลายตัวยาก เช่น วัสดุทำผ้าฝ้าย หนัง พลาสติก โลหะ ก็ยิ่งส่งผลให้บริเวณข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำหรือดินเน่าเสีย ไม่สามารถนำมาใช้ในการเพาะปลูกได้อีก

4. การใช้ยาปราบศัตรูพืชและสัตว์

แน่นอนว่าการนำเอาสารเคมีมาใช้กับพืชหรือสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติย่อมไม่เป็นผลดี โดยเฉพาะยาปราบศัตรูพืชบางชนิด หากผสมคลุกเคล้าเข้ากับดินแล้วอาจเกิดปฏิกิริยาเคมีที่ส่งผลต่อพืชและสัตว์บริเวณดังกล่าว หรือสารเคมีบางชนิดอาจคงทนต่อการสลายตัวและสะสมอยู่ในดินเป็นเวลานาน

5. น้ำชลประทาน

สาเหตุพี่น้ำชลประทานเป็นพิษ คือ เกิดจากตะกอนเกลือ และสารเคมีต่าง ๆ ที่ปะปนมากับน้ำในพื้นที่เกษตรกรรมโดยรอบ ยิ่งบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีการใช้ยาปราบศัตรูพืช สารเคมีกันอย่างกว้างขวางแล้วด้วย เมื่อเวลาฝนตกน้ำก็จะพัดพานำเอาสารเคมีดังกล่าวไหลลงสู่แม่น้ำ ลำคลองจนกลายมาเป็นมลพิษทางน้ำและดินตามมา

6. การใส่ปุ๋ย

แม้การใส่ปุ๋ยเป็นการเพิ่มธาตุหลักให้กับดิน แต่หากใส่มากเกินไปก็อาจเกิดการสะสม โดยเฉพาะฟอสฟอรัส ไนโตรเจน และโพแทสเซียม หากมีในดินปริมาณมากอาจทำให้ดินเป็นพิษได้ เช่น ปุ๋ยที่มีแอลมาเนียมซัลเฟต จะทำปฏิกิริยารีดักชั่นได้ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟต์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบการหายใจของรากพืช ทำให้ดูดซึมแร่ธาตุต่าง ๆ ได้น้อยลง

7. การใช้สารเคมีและสารกัมมันตรังสี 

ได้แก่ ยาปราบศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง ส่วนใหญ่สารเคมีเหล่านี้มักสะสมในดินและทำลายแบคทีเรียดี จนสภาพดินเกิดการเสื่อมสภาพ 

จะเห็นได้ว่าสาเหตุของมลพิษทางดินที่กล่าวไปข้างต้นล้วนแล้วแต่เกิดจากฝีมือมนุษย์แทบทั้งสิ้น ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นหนึ่งในประชากรของโลกและอยากให้โลกอยู่กับเราไปนาน ๆ ก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีหรือยาปราบศัตรูพืช รวมถึงการทิ้งขยะมูลฝอยและของเสียต่าง ๆ แม้จะช่วยไม่ได้มาก แต่ก็ดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย